มั่วอย่างไรให้ได้ผล?

การออกแบบพื้นที่แบ่งปันให้ได้ผลนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เพราะเป็นการโน้มน้าวพฤติกรรมคนผ่านจิตวิทยา ถ้าออกแบบไม่ดี รถยนต์ก็จะครอบงำถนน(รถจะเป็นใหญ่)เหมือนเดิม เนื่องจากรถยนต์เป็นรูปแบบการสัญจรที่แข็งแกร่งกว่าคนเดินเท้า (หมายถึงถ้าคนปะทะกับรถ คนจะเป็นฝ่ายได้รับบาดเจ็บ จึงรู้สึกเกรงกลัวรถมากกว่า)

จุดสำคัญคือการรับรู้ของคนทุกคนในพื้นที่แบ่งปัน จะต้องออกแบบให้คนทุกคนโดยเฉพาะคนขับรถรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในพื้นที่แบ่งปัน แทนที่รถจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของถนน ก็ต้องทำให้รู้สึกว่ากำลังขับรถผ่านพื้นที่ที่รถเป็นแขกผู้มาเยือนหรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของถนน และรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนเดินเท้าหรือคนสัญจรรูปแบบอื่นบนถนนนั้น4

นอกจากนี้ การรับรู้ของคนในสังคมก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในพื้นที่แบ่งปัน ตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจหนึ่งคือ สังคมที่มีจำนวนรถยนต์ต่อประชากรสูง1 คนขับรถบางส่วนไม่ได้รู้สึกว่าคนเดินเท้านั้นมีสถานะด้อยกว่า (คือคนเดินเท้านั้นอาจจะมีเงินซื้อรถได้เช่นกัน แต่อาจจะแค่เลือกไม่ซื้อรถเท่านั้นเอง) คนขับรถนั้นจึงปฏิบัติต่อคนเดินเท้าด้วยความรู้สึกเท่าเทียมกัน

แนวคิดพื้นที่แบ่งปันนั้นแตกต่างจากการจัดการความปลอดภัยการจราจรแบบดั้งเดิมตรงที่ แนวคิดนี้ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนขับรถว่าเป็นตัวอันตราย จึงต้องพยายามแยกรถออกจากคนเดินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่คิดว่าคนขับรถก็เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ และสามารถขับผ่านพื้นที่นี้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคนสัญจรรูปแบบอื่น

ถ้าเพียงเอาป้ายจราจรออก แต่ทางยังเป็นทางตรงโล่ง คนขับรถก็จะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของถนนเหมือนเดิม เมื่อคนขับรถขับเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกิน 30 km/h จะทำให้”สบตา”กับคนเดินได้ยาก ซึ่งแปลว่าคนเดินไม่สามารถ”ต่อรอง”กับคนขับรถได้ การทำพื้นที่แบ่งปันที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีตัวอย่างให้เห็น คนเดินก็จะรู้สึกแย่ อยากหลีกเลี่ยงพื้นที่นี้ หรือในอีกมุม คนขับรถก็รู้สึกกลัวที่จะต้องขับผ่านพื้นที่ที่เค้ารู้สึกว่าคนเดินเป็นใหญ่และคนเดินอาจจะทำอะไรก็ได้ จะโผล่มาหน้ารถเมื่อไหร่ก็ได้ และอยากหลีกเลี่ยงพื้นที่นี้ รวมทั้งต้องออกแบบเพื่อรวม”ทุกคน”ให้เข้าใช้พื้นที่แบ่งปันนี้ได้ เช่นสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่”สบตา”กับคนอื่นได้ยากหรือไม่ได้

ความสำเร็จของพื้นที่แบ่งปันนั้น เกิดขึ้นจากการออกแบบที่แนบเนียนจนทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ร่วมกัน ไม่แบ่งแยกทางจิตใจ ไม่แบ่งแยกเขาหรือเราว่าเป็นคนขับรถ คนเดินเท้า หรือคนขี่จักรยาน ฯลฯ แต่ทุกคนล้วนเป็นคนเท่ากัน ต่างมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเดินทางไปถึง และมีสิทธิ์ที่จะไปเท่าเทียมกัน

58-034 when shared space works

อ้างอิง

Leave a comment